ร่วมประชุมงาน HERP CONGRESS III

ระหว่างวันที่ 9 -10 มีนาคม 2558 ได้เดินทางเข้าร่วมประชุมใหญ่โครงการส่งเสริมการวิจัยในอุดมศึกษา ครั้งที่ 3 (The Third Higher Education Research Promotion Congress : HERP CONGRESS III) โดยความร่วมมือของมหาวิทยาลัยภายใต้โครงการส่งเสริมการวิจัยในอุดมศึกษา 70 แห่ง ณ อาคารภักดีดำรงฤทธิ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช รับผิดชอบจัดโดย สำนักบริหารโครงการส่งเสริมการวิจัยในอุดมศึกษาและพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ถือเป็นโอกาสดีที่ได้ร่วมรับฟังการบรรยายและผลงานวิจัยอย่างเต็มที่เป็นครั้งแรก หลังจากการหมดภารกิจผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา
งาน HERP CONGRESS III มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงศักยภาพด้านการวิจัยของ 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มความหลากหลายทางชีวภาพ การพัฒนาครูของครูด้านโจทย์วิจัยท้องถิ่น และ การวิจัยจากฐานภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่นวัตกรรมด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งการวิจัยจากมหาวิทยาลัยของรัฐ 20 แห่ง นอกจากนี้ ยังต้องการให้ผู้บริหารงานวิจัยของทั้ง 70 มหาวิทยาลัยได้แลกเปลี่ยนแนวทางการบริหารงานวิจัยร่วมกัน กิจกรรมได้เริ่มต้นในเวลา 08.45 น.โดยได้รับเกียรติจากท่านรองศาสตราจารย์ นพ.กำจร ตติยกวี เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เป็นประธานเปิดงาน ตามด้วยการปาฐกถานำเรื่อง”นโยบายสนับสนุนการวิจัยเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของท้องถิ่นสู่สากล” หลังจากนั้น เป็นการบรรยายและการเสวนาทางวิชาการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยใน 3 กลุ่มหลัก มีการนำเสนอผลงานวิจัยภาคโปสเตอร์ในช่วงสุดท้ายของวันที่ 9 และ ในวันที่ 10 มีการนำเสนอผลงานวิจัยดีเด่นกลุ่มละ 1 เรื่อง การบรรยายโดยวิทยากรผู้ทรงวุฒิ จบท้ายด้วยการนำเสนอผลงานวิจัยภาคบรรยาย มอบรางวัลแก่นักวิจัย และ ปิดงาน ซึ่งตรงกับเวลา 17.00 น.พอดี
สิ่งที่ประทับใจในงานนี้ คือ ความร่วมมือร่วมใจของผู้เข้าร่วมโครงการที่อยู่ประจำ ณ จุดย่อยของงานมีจำนวนคงที่อย่างต่อเนื่อง และ เป็นจำนวนมาก ถือเป็นความสำเร็จขอบคณะทำงานที่สามารถจัดกิจกรรมที่มีประโยชน์ และอยู่ในความสนใจของผู้ร่วมงาน เป็นสิ่งที่น่าชื่นชม  สำหรับสิ่งที่ถือเป็นอุปสรรคเล็กน้อยของงานคือ อากาศร้อน พาหนะที่จะใช้บริการโดยเฉพราะแท๊กซี่รับจ้างมีจำนวนน้อย เนื่องจาก มรภ.นครศรีธรรมราช มีที่ตั้งอยู่นอกตัวจังหวัด มีระยะทางไกลจากตัวเมืองค่อนข้างมาก ส่งผลให้ผู้ให้บริการไม่นิยมหาลูกค้าที่อยู่นอกเส้นทางการเดินรถ แต่อย่างไรก็ตาม ทาง มรภ.ได้อำนวยความสะดวกในการให้บริการยานพาหนะอย่างเต็มที่
ในท้ายที่สุดของเรื่องเล่านี้ ผู้เขียนขอเล่าถึงความภาคภูมิใจของตนเอง ทั้งในฐานะนักวิจัยและผู้บริหารงานวิจัยด้วย ความรู้สึกนี้เกิดขึ้นเมื่อได้เห็นเอกสารที่แจกในงานประชุมนี้ ทำให้รู้สึกได้อย่างหนึ่งว่า แม้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร จะเป็นมหาวิทยาลัยเล็กๆ หรือ แม้สถาบันวิจัยและพัฒนา จะเป็นสถาบันเล็กๆมีอายุเพียง 8 ปี แต่การทำงานของเราทำให้ โครงการ HERP ได้เห็นความตั้งใจ ความจริงจังในการพัฒนางานต่างๆในเรื่อง นักวิจัย งบประมาณวิจัย และผลงานวิจัย มีผลงานเชิงประจักษ์ ทำให้ได้รับการยอมรับจากผู้บริหารโครงการ HERP โดยเฉพาะในกลุ่มความหลากหลายทางชีวภาพในเอกสาร “การสังเคราะห์งานวิจัยโครงการพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการเครือข่ายกลุ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ประจำปี 2557” ในเอกสารนี้ พบว่า มีเนื้อหาสาระที่ผู้เขียนและน้องๆทีมงาน สวพ.มทร.พระนคร ได้ช่วยกันทำอยู่ถึง 3 ส่วน โดยเฉพาะในบทที่ 2 หน้าที่ 19 ทาง HERP กลุ่มความหลากหลายทางชีวภาพ หัวข้อ การศึกษาแนวปฏิบัติที่ดีฯโดยได้กล่าวถึงมหาวิทยาลัยของเราไว้ว่า “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร นำเสนอ output/outcome ที่ชัดเจนของโครงการวิจัยฯ นับว่าเป็นมหาวิทยาลัยเดียวในเวทีเสวนา ที่มีการ
เตรียมข้อมูลทั้งเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณมาอย่างครบถ้วน และเป็นมหาวิทยาลัยเดียวที่เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ของสถาบันวิจัยและพัฒนาเข้าร่วมการประชัมครั้งนี้เพื่อเป็นการเติมเต็มในการพัฒนาบุคลากรของสถาบันวิจัยและพัฒนาด้วย…” อ่านแล้วอดแอบภาคภูมิใจไม่ได้เลย และอีกส่วนหนึ่ง คือ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นมหาวิทยาลัยตัวอย่าง 2 มหาวิทยาลัย ในการนำเสนอเรื่อง”ตัวอย่างรูปแบบการบริหารจัดการงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร”อยู่ในเอกสารหน้า 71-76 คือ เป็นเอกสารจำนวนถึง 6 หน้าเต็ม ในตอนกลางวันของวันที่ 10 ก่อนรับประทานอาหารกลางวัน ได้มีโอกาสพบกับท่านศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้ ท่านได้ถามว่า อาจารย์เห็นมั๊ย ผมได้ให้เขานำเอกสารของอาจารย์มาใส่ไว้ในเล่มด้วย ตอบไปว่า เห็นค่ะ กราบขอบพระคุณท่านมากค่ะ และเรียนท่านไปว่า ถ้าท่านจะมีอะไรให้ทำก็ให้ท่านแจ้งได้เลย ท่านว่า “ช่วยมาเป็นวิทยากรแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการบริหารงานวิจัยให้หน่อย”
แม้วันนี้ จะไม่ใช่การปฏิบัติภารกิจในฐานะผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาให้กับมหาวิทยาลัยแล้ว แต่ผู้เขียนเชื่อว่า หากเราตั้งใจทำงาน จะอยู่ตรงไหน ก็สามารถให้ประโยชน์แก่สังคมได้เช่นเดียวกัน